มาร์โมเส็ท ไคเมร่า
โดย แทนไท ประเสริฐกุล
หมายเหตุ – เคยลงบทความนี้ในคอลัมน์ “คนค้นสัตว์” ของเว็บ open online เมื่อนานมาแล้ว (9 ก.ค. 2007) เห็นว่าสอดคล้องกับเนื้อหาที่พูดใน WiTcast ตอน 10.2 ดี ก็เลยนำมาแบ่งปันขอรับ
—————————————————————————————–
เป็นไปได้มั้ยครับ ที่ใครคนสักคนนึงจะเป็นพ่อของหลานตัวเอง? หรือเป็นป้าของลูกตัวเอง?
แล้วลองนึกภาพดูสิครับ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดว่าครึ่งนึงของสเปิร์มในอัณฑะ(หรือไข่ในรังไข่) ของคุณ ไม่ได้เป็นของตัวคุณเอง แต่กลับเป็นของพี่ชายคุณหรือน้องสาวคุณเอามาฝากไว้?
ทั้งหลายที่ว่ามา ถ้าเป็นในคนก็คงจินตนาการได้ยากโขอยู่.. แต่ถ้าเป็นในตัวมาร์โมเส็ทแล้วละก็ ทั้งหมดนี้ ถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ
มาร์โมเส็ท (marmoset) เป็นลิงตัวเล็กๆ ประเภทหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนแถวอเมริกาใต้ (หรือแถวตลาดจตุจักรก็หาได้เหมือนกัน) ดูผิวเผินพวกมันก็หน้าตาเหมือนลิงธรรมดา ไม่ได้มีอะไรแปลกประหลาดมาก ทว่า เมื่อเจาะลึกลงไปถึงระดับเซล มาร์โมเส็ทกลับแฝงไว้ซึ่งความพิศดารอันน่าอัศจรรย์ยิ่ง
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมปกติทั่วไป เริ่มต้นชีวิตด้วยเซลๆ เดียว จากนั้นจึงค่อยๆ แบ่งตัวจาก 1 เป็น 2 เซล จาก 2 เป็น 4 เซล เป็น 16 เป็น 32 ไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง สมมติว่าถ้าเป็นคน เมื่อโตเต็มที่ก็จะมีเซลรวมทั้งหมดถึงประมาณ 100,000,000,000,000 (100 ล้านล้าน) เซล เป็นตัวเลขที่เยอะกว่าจำนวนดวงดาวทั้งหมดในกาแล็กซี่ของเราซะอีก! (กาแล็กซี่ทางช้างเผือกมีดาวประมาณ 400,000,000,000 หรือ 4 แสนล้านดวง) แต่ไม่ว่าจะมีเซลเยอะแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วบรรดาเซลพวกนี้ทุกๆ เซลก็จะยังมีรหัส DNA ที่เหมือนกันทั้งหมด จะไม่ให้เหมือนได้ยังไงล่ะครับ ในเมื่อมันต่างก็ก็อปปี้ๆ ต่อๆๆๆ กันมาจากเซลเริ่มต้นเซลเดียวกัน ซึ่งก็คือเจ้าเม็ดเซลดั้งเดิมที่ได้มาจากการรวมตัวกันระหว่างไข่ของแม่กับเสปิร์มของพ่อนั่นเอง
เช่นนี้แล้วก็หมายความว่า หากคุณไปก่ออาชญากรรมที่ไหนซักแห่งแล้วเผลอทิ้งร่องรอยเอาไว้ มันไม่สำคัญหรอกว่าเซลที่คุณได้ทำหล่นเอาไว้จะเป็นเซลผิวหนัง เซลลำไส้เล็ก เซลสมอง เซลหัวใจ เซลรากขนจมูก เซลเยื่อบุทวารหนัก หรือเซลส้นเท้าอะไรก็แล้วแต่ ทุกๆ เซลล้วนมีรหัส DNA เหมือนกันทั้งหมด บรรจุรหัสพันธุกรรมฉบับเดียวกันเอาไว้ทั้งหมด ตำรวจสามารถนำเซลชนิดไหนก็ได้ไปใช้ในการระบุตัวตนของคุณ หรือจะให้เว่อร์ยิ่งขึ้น ขอเพียงคุณฮัดชิ่วใส่กระดาษซักแผ่น หรือแค่เช็ดตูดด้วยทิชชู่ซักใบ (เอาแบบสากๆ นะ) นักวิทยาศาสตร์ก็จะสามารถเก็บเอาเศษเซลพวกนี้ไปโคลนนิ่งออกมาเป็นคุณคนใหม่ได้ทั้งคน โดยไม่ยากเย็นแต่อย่างใด (ในทางทฤษฏี)
สรุป เซลทุกเซลมีรหัส DNA เหมือนกันหมด และรหัส DNA ชุดนั้น ไม่ว่าจะมาจากเซลไหน มันก็คือ ‘ตัวตน’ เพียงหนึ่งเดียวทางพันธุกรรมของคุณ สรุปให้ง่ายขึ้นอีก สมมติรหัสพันธุกรรมของคุณเขียนว่า ‘ฮุมบารีฮุนบุนบาเล’ คุณไปดูที่เซลไหนในตัวคุณมันก็จะเขียน ‘ฮุมบารีฮุนบุนบาเล’ เหมือนกันหมด ในขณะที่ถ้าคุณไปดูของคุณป้าสมจิตข้างบ้าน ของแกก็จะเขียนเหมือนกันหมดทุกเซลเหมือนกัน แต่อาจจะเขียนต่างไปจากคุณ คือเป็น ‘ฮุมบารูฮันบันบารัม’ แทน.. โดยปกติ ในสัตว์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในคน หรือในชนิดไหนๆ เรื่องราวก็จะเป็นประมาณนี้ทั้งสิ้น แต่ที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏว่า ในมาร์โมเส็ทมันไม่ใช่แฮะ
ในลิงมาร์โมเส็ท คุณแม่มักจะให้กำเนิดลูกที่เป็นแฝดสองเสมอ แฝดในที่นี้ไม่ใช่แฝดแบบที่หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ แต่เป็นแฝดแบบคนละไข่กัน ก็คือเป็นเสมือนพี่น้องที่แค่เกิดมาร่วมครรภ์ในเวลาเดียวกันเฉยๆ เรื่องแปลกไม่ได้อยู่ตรงนี้หรอกครับ เพราะว่าขนาดในคน แฝดคู่ไม่เหมือน หรือ unidentical twins (เรียกอีกอย่างว่า fraternal twins) ก็มีให้เห็นอยู่ถมไป ทว่า ในมาร์โมเส็ทนั้น มันจะมีปรากฏการณ์ที่พิเศษมากๆ อย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นก็คือในวันที่ 18-20 หลังจากตัวอ่อนคู่แฝดทั้งสองได้รับการปฏิสนธิ รกของพวกมันจะค่อยๆ เริ่มเติบโตมาผสานรวมกัน จนเกิดเป็นท่อที่เชื่อมโยงตัวอ่อนทั้งสอง ทำให้สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนเซลระหว่างกันและกันได้ เซลจากแฝดพี่อาจโยกย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ฝั่งตัวอ่อนน้อง ขณะเดียวกัน เซลแฝดน้องก็อาจจะอพยพข้ามไปปะปนอยู่กับเซลของตัวอ่อนพี่ได้! โอวว.. นึกภาพอะไรดีละครับ นึกถึงนาฬิกาทรายที่ตั้งเอาไว้แนวนอนก็แล้วกัน ในกะเปาะแก้วฝั่งนึงมีทรายสีขาว ส่วนอีกฝั่งนึงมีทรายสีดำอยู่ เทกลับไปกลับมาซักสองสามรอบ ฝั่งดำก็จะได้ทรายสีขาวไปปนอยู่ปริมาณหนึ่ง ส่วนฝั่งขาวก็จะได้ทรายสีดำเข้ามาแทรกด้วยเช่นเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวอ่อนพี่น้องมาร์โมเส็ทก็เป็นประมาณนี้แหละครับ และหลังจากช่วงแลกเปลี่ยนเซลผ่านไป ตัวอ่อนแต่ละตัวยังคงต้องแบ่งเซลต่ออีกหลายรอบ คุณลองจินตนาการดูก็แล้วกันว่าพอโตขึ้นมา ตัวตนทางพันธุกรรมของพวกมันจะออกมาเป็นยังไง?
ผลลัพธ์ที่ได้ หากคุณนำมาร์โมเส็ทโตเต็มที่มาสักตัวหนึ่ง เจาะเลือดหรือถอนขนมันออกมาตรวจดู คุณจะไม่ได้พบแค่เซลที่บรรจุพันธุกรรมของตัวมันเองเพียงอย่างเดียว แต่จะพบเซลที่บรรจุรหัสพันธุกรรมของพี่น้องฝาแฝดของมันผสมผสานอยู่ด้วย! เท่ากับว่ามาร์โมเส็ทตัวนั้นเป็นทั้งตัวมันเองและก็ทั้งพี่น้องของมันด้วยในเวลาเดียวกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มาร์โมเส็ทมีตัวตนในระดับพันธุกรรมถึง 2 ตัวตนในร่างเดียว! ในทางวิทยาศาสตร์ เราเรียกสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษแบบนี้ว่า genetic chimera (ไคเมร่า มาจากชื่อสัตว์ประหลาดในตำนานกรีก ซึ่งมีลักษณะผสมผสานระหว่างสัตว์หลายๆ ชนิด มีหัว 3 หัว หัวนึงเป็นสิงโต อีกหัวนึงเป็นมังกร ส่วนอีกหัวนึงเป็นแพะ ฯลฯ สำหรับในทางพันธุกรรม โดยภายนอกสัตว์ที่เป็นไคเมร่าจะมีหน้าตาเหมือนสัตว์ปกติธรรมดาทั่วไปนี่แหละ มีแต่ในระดับเซลเท่านั้นที่เป็นส่วนผสมระหว่างสัตว์มากกว่า 1 ตัวเข้าด้วยกัน)
ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน แวดวงวิทย์รู้มานานแล้วละครับว่ามาร์โมเส็ทเป็นไคเมร่าในเลือด หมายถึงว่าเม็ดเลือดมันมีปนเปทั้งที่เป็นเซลของตัวเองและก็เซลที่ได้มาจากพี่น้องฝาแฝดด้วย แต่ล่าสุดนี้เพิ่งมีงานวิจัยชิ้นใหม่ (มีนาคม 2007) ซึ่งค้นพบว่า ระบบอื่นๆ ในร่างกายของมันก็เป็นแบบนั้นด้วยเหมือนกัน ผลการวิจัยโดยทีมของ ดร. คอรินน่า รอสส์ (Corinna Ross) แห่งมหาวิทยาลัยเนบราสก้าสาขาลินคอล์น (University of Nebraska at Lincoln) ระบุว่า มาร์โมเส็ทเป็นไคเมร่าแทบจะทั้งตัวเลยก็ว่าได้ แต่จะเป็นมากเป็นน้อยนั้นแล้วแต่อวัยวะ ยกตัวอย่างเช่น ในมาร์โมเส็ท 100 ตัว อาจจะมีตัวที่เป็นไคเมร่าในม้ามหรือในตับมากถึง 40-50% โดยในบรรดาตัวที่เป็นนี้ ถ้าเราเอาตับมันมาออกมาวิเคราะห์ดู ก็อาจจะพบว่าประกอบไปด้วยเซลที่มาจากฝาแฝดมันถึงประมาณ 30-40% ในขณะที่ถ้าเป็นอวัยวะอย่างอื่น อย่างเช่นผิวหนังหรือสมอง อัตราส่วนของตัวที่เป็นไคเมร่าอาจจะพบน้อยลงมาเหลือแค่ 3-6% และถ้าเอาตัวอวัยวะออกมาวิเคราะห์ดูก็อาจจะพบเซลของฝาแฝดปะปนอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 10% อะไรทำนองนั้น เป็นต้น
ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ปรากฏการณ์ไคเมร่าในมาร์โมเส็ทที่พบนั้น ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ตับ ไต ไส้พุง ปอด ม้าม เลือด หัวใจ ผิวหนัง หรือ สมอง เท่านั้น แต่ยังแพร่ขยายเกินเลยไปจนถึงระดับเซลสืบพันธุ์ด้วย! นั่นหมายความว่าอย่างไรครับ? ถ้าว่ากันตามนี้ก็คือ มาร์โมเส็ทตัวผู้ตัวหนึ่งที่คุณเห็นกำลังเดินๆ ชิวๆ อยู่บนต้นไม้เนี่ย ไม่เพียงแต่มีสเปิร์มของตัวเองอยู่ในอัณฑะของมันเท่านั้น แต่ยังคอยพกพาเสปิร์มของพี่ชาย (หรือน้องชาย) ของมันอีกจำนวนหนึ่งติดตัวไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา!
เท่ากับว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มาร์โมเส็ทหนุ่มตัวนี้ไปมีเมียมีลูก ลูกที่เกิดมาอาจจะมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง (ตามผลวิจัยค้นพบว่าเป็นประมาณ 1 ใน 3) ที่จะได้รับสืบทอดพันธุกรรมของพี่น้องฝาแฝดของมันไปแทน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เด็กๆ อาจถือกำเนิดมาจากเสปิร์มของคุณลุง แทนที่จะเกิดมาจากเสปิร์มของพ่อแท้ๆ ของตัวเอง ทั้งๆ ที่คุณแม่ก็ไม่ได้เคยไปมีชู้กับพี่ชายของสามีมาก่อน.. จากมุมมองของคุณพ่อ ลูกที่เกิดมาอาจจะไม่ใช่ลูก แต่อาจจะเป็นหลานของตัวเอง.. มาร์โมเส็ท 2 ตัว อาจจะเป็นทั้งพี่น้องกัน และก็เป็นทั้งลูกพี่ลูกน้องกันด้วย ในเวลาเดียวกัน..
เอาเถอะ ประเดี๋ยวไว้ค่อยมางงเรื่องครอบครัวมาร์โมเส็ทกันต่อละกันนะครับ ตอนนี้ขอเปลี่ยนเรื่องไปดูในคนกันมั่งดีกว่า ว่าหากเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาบ้าง มันจะเป็นยังไง
ปรากฏว่าในคนเราเนี่ย ก็มีปรากฏการณ์ไคเมร่าเกิดขึ้นบ้างเหมือนกันครับ แต่ว่า นานน้านน… จะพบเป็นข่าวขึ้นมาซักที ไม่ได้เกิดเป็นอาจิณเหมือนอย่างในมาร์โมเส็ท
เรื่องแรก.. ลิเดีย แฟร์ชาลด์ (Lydia Fairchild) คุณแม่ลูก 3 ประสบปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง ก็เลยไปสมัครขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากหน่วยงานรัฐ ตามกฏคาดว่า ยิ่งมีบุตรธิดาจำนวนมากเท่าไหร่ ก็น่าจะยิ่งมีสิทธิในการขอรับเงินได้มากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการโกง (เผื่อประเดี๋ยวไปเอาลูกใครไม่รู้มาอ้าง) เจ้าหน้าที่ก็จะต้องมีการขอตรวจ DNA ดูให้เรียบร้อยเสียก่อนว่าเป็นแม่กับลูกกันจริงหรือเปล่า ไม่อย่างงั้นก็จะไม่สามารถอนุมัติให้ได้ ตรงจุดนี้ คุณลิเดียแกก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็เข้ารับการตรวจไปตามเรื่อง แต่ปรากฏว่าผลตรวจที่ออกมามันช่างน่าเซอร์ไพรซ์นัก
ผล DNA ระบุว่า เด็กๆ เหล่านั้นเป็นพี่น้องกันจริง และเป็นลูกของสามีคุณลิเดียจริง แต่กลับไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของตัวแกเอง.. คุณลิเดียแกก็เถียงบอก มันจะไม่ใช่ได้ยังไงฟะ ก็คลอดออกมาจากท้องตัวเองชัดๆ แล้วจะให้เป็นลูกคนอื่นไปได้ยังไง!?
อย่างไรก็ตาม ทางการเค้าก็ไม่สนล่ะครับ ถือว่าว่ากันตามผล DNA เป็นหลัก คุณลิเดียเลยโดนข้อหาต้องสงสัย ว่าไปลักพาตัวลูกคนอื่นเค้ามาแอบอ้าง ซึ่งในกรณีนี้รัฐมีสิทธิที่จะจัดการยึดตัวเด็กๆ ไปดูแลแทนได้ คุณลิเดียแกเจอแบบนี้เข้าก็ฉุนกึก รีบไปค้นหาหลักฐานรูปถ่ายตอนท้อง สูติบัตร ใบรับรองจากหมอสู ต่างๆ นาๆ เอามายืนยัน แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีใครยอมรับฟัง ขนาดทนายเองก็ไม่มีเจ้าไหนยอมรับทำคดีความ เพราะในชั้นศาลแล้ว หลักฐาน DNA ถือว่าเป็นเสมือนสิ่งศักสิทธิ์ จะไปเถียงยังไงก็ไม่มีทางชนะได้
ในที่สุด ด้วยความอับจนปัญญา ลิเดียจึงเริ่มคิดวางแผนจะพาลูกหนี แต่ทว่าพอดี๊พอดี เรื่องทั้งหมดกลับได้รับการคลี่คลายซะก่อนด้วยความฟลุคแบบสุดๆ คือในระหว่างช่วงที่ชุลมุนวุ่นวายอยู่นั้นเอง คุณลิเดียแกก็เกิดท้องขึ้นมาอีกรอบ (ยังอุตส่าห์มีอารมณ์อีกนะ) และในการตั้งครรภ์ครั้งนี้เอง ทางรัฐได้จ้างเจ้าหน้าที่ศาลให้มาติดตามบันทึกรายละเอียดทุกอย่าง คือถึงขั้นเข้าไปรอในห้องทำคลอดด้วย แล้วพอเด็กเด้งออกมาปุ๊บ ก็รีบเก็บตัวอย่างเซลนำไปตรวจ DNA ในทันที ผลการตรวจสอบออกมาปรากฏว่า ในทางพันธุกรรม เด็กคนนี้ก็ยังไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของลิเดียอยู่ดี! ฟังดูบ้าดีแท้ มันจะไม่ใช่ได้ยังไง ก็คลอดกันให้ดูเห็นๆ! จากเหตุการณ์ที่เกิด ทำให้ทางศาลเริ่มฉุกคิดขึ้นมามากขึ้น อืมม.. ในเมื่อเป็นแบบนี้ ก็แสดงว่าที่ผ่านที่ผ่านมาเธออาจจะไม่ได้โกหก แต่ถ้าอย่างนั้นแล้ว มันจะอธิบายได้ว่ายังไงกันล่ะ? หรือว่าคุณลิเดียแกอาจจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมอะไรบางอย่าง ที่ทำให้สามารถคลอดลูกออกมาเป็นลูกคนอื่นได้.. ทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยมีใครคาดถึงมาก่อน
ความผิดปกติที่ว่าก็คือปรากฏการณ์ไคเมร่านั่นแหละครับ.. ต่อมา มีทนายใจดีและหัวไวคนหนึ่งรับคดีนี้ไปทำ แล้วก็ไปค้นจนเจอเรื่องไคเมร่าในคนเข้า ก็เลยได้พาลิเดียไปตรวจสอบ แล้วก็ยืนยันพบว่าเธอเป็นมนุษย์ไคเมร่าจริงๆ อย่างที่สงสัย ศาลรับพิจารณาแล้วก็เลยตัดสินให้เรื่องทั้งหมดก็ได้รับการยกฟ้องไปในที่สุด ถือได้ว่าจบลงแบบ happy ending นี่โชคยังดีที่ว่าลิเดียเป็นผู้หญิง เลยมีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเด็กคลอดออกมาจากตัวเธอจริงๆ ถ้าเกิดสมติว่ากลับกัน ลูกตรวจ DNA ออกมาแล้วไม่ตรงกับฝ่ายชายขึ้นมาละก็ เรื่องคงวุ่นวายกว่านี้เยอะล่ะครับ ฝ่ายคุณพ่อคงสงสัยทันทีว่าเมียตัวเองต้องไปมีชู้มาแน่ๆ กว่าจะสืบสาวให้รู้เรื่องได้ว่าสามีเป็นมนุษย์ไคเมร่า มีหวังคงได้หย่าร้างกันไปเรียบร้อยแล้ว (แต่ในคดีฆ่าข่มขืน ไม่แน่ผู้ชายที่เป็นไคเมร่าอาจจะได้รับประโยชน์ เพราะรหัส DNA ในสเปิร์มจากที่เกิดเหตุอาจจะสืบมาไม่ถึงตัวฆาตกรตัวจริง)
ไคเมร่าในคนเกิดขึ้นได้ยังไงครับ? เค้าสัณนิษฐานกันว่า อย่างกรณีของลิเดียนี่ จริงๆ แล้วตอนอยู่ในท้องแม่ เธออาจจะเคยมีฝาแฝดที่เป็นน้องสาวอยู่อีกคนหนึ่ง(แฝดคนละไข่ เหมือนอย่างในมาร์โมเส็ท) แต่จากนั้นตัวอ่อนของทั้ง 2 คน เกิดการผสมผสานรวมตัวกันกลายเป็นคนๆ เดียว ซึ่งก็คือลิเดีย ส่วนน้องสาวของเธอถูกดูดกลืนหายเข้าไปเหลือแค่เป็นเซลกระจัดกระจายอยู่ในตัวลิเดียอีกทีหนึ่ง เซลไข่ในรังไข่ของลิเดีย ที่ได้รับการปฏิสนธิจนให้กำเนิดเป็นลูกของเธอออกมา 4 คนนั้น จริงๆ แล้ว ก็อาจจะมาจากเซลของน้องสาวฝาแฝดเธอที่ไม่มีโอกาสลืมตามาดูโลกผู้นั้นนั่นเอง
ไคเมร่า เป็นปรากฏการณ์ที่พบน้อยมากๆ ในมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีบันทึกไว้แค่ราว 30 เคสเท่านั้นเอง แต่ก็ไม่แน่นะครับ ไคเมร่าจริงๆ แล้วอาจจะเกิดบ่อยกว่าที่มีรายงานกันก็เป็นได้ เพราะคนเราอยู่ดีๆ นั่งอยู่เฉยๆ มันจะไปรู้ได้ยังไงว่าตัวเองเป็นไคเมร่า ก็มีแต่ต้องเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาก่อนเหมือนคุณลิเดียนั่นแหละ ถึงจะมีโอกาสได้รู้ อย่างไรก็ตาม ไคเมร่าที่แสดงออกในลักษณะภายนอก ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันนะ อย่างเช่นบางคน ตาสองข้างสีไม่เหมือนกัน พอไปตรวจถึงได้รู้ว่าเป็นไคเมร่า ผู้ชายอีกรายนึง ตอนแรกคิดว่าตัวเองเป็นทองแดง (มีไข่ข้างเดียว) พอไปให้หมอตรวจดู ปรากฏพบว่า ข้างในท้องอีกข้างนึง มีรังไข่ของผู้หญิงซ่อนอยู่ สันนิษฐานว่าเจริญมาจากเซลของน้องสาวฝาแฝดที่เคยอยู่ด้วยกันในท้องแม่ แต่ไม่มีโอกาสได้เกิด (ฟังดูหลอนพิลึก).. ไม่แน่นะครับ บางทีตัวคุณเอง ก็อาจจะเป็นไคเมร่าด้วยก็ได้ ต่อให้ตอนนี้คุณไม่มีพี่น้องฝาแฝด แต่ใครจะไปรู้ ไม่แน่ส่วนหนึ่งของร่างกายคุณอาจจะประกอบขึ้นมาจากเซลของเค้าก็เป็นได้.. ไม่แน่ ฝาแฝดที่ไม่มีตัวตน อาจจะแฝงเร้นอยู่ในตัวคุณเอง
เอาล่ะ สุดท้ายนี้กลับมาว่าเรื่องมาร์โมเส็ทกันต่ออีกสักนิดเถอะครับ
มาร์โมเส็ท จริงๆ แล้วไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เรื่องไคเมร่าเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่ยังได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะสัตว์สังคมที่มีความรักใคร่ปรองดองกันดีมากๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกตัวผู้นี่ ถือได้ว่านิสัยดีมากๆ เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ สามีมาร์โมเส็ทจะช่วยเมียตัวเองเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด คอยอุ้มดูแลให้ลูกขี่หลังตลอด ผิดกับพ่อหมา หรือพ่อแมว หรือแม้แต่พ่อลิงอื่นๆ ซึ่งพอฟันเสร็จแล้วก็มักจะชิ่งอย่างเดียว แล้วไม่ใช่เพียงแค่พ่อเท่านั้น แม้แต่บรรดาญาติๆ ป้าๆ น้าๆ อาๆ ลุงๆ ปู่ย่าตายายมาร์โมเส็ททั้งหลาย พอมีใครมีลูกมีหลานที ก็มักจะมาช่วยกันเลี้ยงช่วยกันอุ้มตลอด เรียกได้ว่าเป็นระบบเครือญาติแบบแน่นแฟ้นมากๆ
คุณคอรินน่า รอสส์ เชื่อว่า เอกลักษณ์เรื่องระบบครอบครัวใหญ่ซึ่งมีสมาชิกคอยช่วยกันเลี้ยงดูเด็กแบบในมาร์โมเส็ทนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความเป็นไคเมร่าของพวกมันนั่นแหละ สาเหตุเนื่องมาจาก พอเป็นไคเมร่าปุ๊บ ก็เท่ากับว่า แต่ละตัวล้วนมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันมากกว่าปกติ อย่างพี่น้องกัน ธรรมดาแชร์ยีนร่วมกันแค่ประมาณ 50% แต่พอเป็นไคเมร่า เซลของฉันส่วนหนึ่งก็เป็นของเธอ เซลของเธอส่วนหนึ่งก็เป็นของฉัน มันทำให้ยิ่งกลายเป็นญาติสนิทกันเข้าไปใหญ่ เลยระดับพี่น้องปกติไปอีก แถมไหนถ้าเกิดพี่มีลูก ลูกที่เกิดมาก็อาจจะเป็นลูกของน้องก็ได้ ส่วนลูกที่เกิดกับน้องก็อาจจะเป็นลูกทางพันธุกรรมของพี่ก็ได้เหมือนกัน กลายเป็นว่าใครก็ตามมีลูก ก็ยิ่งช่วยๆ กันเลี้ยงนั่นแหละยิ่งดีที่สุด สังคมมันก็เลยออกมาในสภาพแบบว่า ไม่ค่อยมีการแบ่งแยกครอบครัวกันเท่าไหร่ ใครมีอะไรก็ช่วยเหลือกันไปนั่นแหละ จะยังไงก็ญาติๆ กันทั้งนั้น เพราะเนื่องมาจากปรากฏการณ์ไคเมร่านั่นเอง
อีกจุดนึงที่น่าสนใจครับ.. บางครั้งการถ่ายเทเซลระหว่างคู่ฝาแฝดที่เกิดขึ้นในท้องแม่ อาจเกิดแค่ในทิศทางเดียว ยกตัวอย่างเช่น เซลจากตัวอ่อนมาร์โมเส็ท A อาจจะอพยพข้ามไปปนกับตัวอ่อนมาร์โมเส็ท B แต่ในทางกลับกัน เซลจากตัวอ่อนมาร์โมเส็ท B ไม่ได้อพยพข้ามมาปนกับตัวอ่อนของมาร์โมเส็ท A เมื่อการถ่ายเทเกิดขึ้นด้านเดียวแบบนี้ ก็จะก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ลูกมาร์โมเส็ทตัวหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นไคเมร่า ในขณะที่พี่น้องฝาแฝดของมันอีกตัวหนึ่ง เติบโตขึ้นมาเป็นสัตว์ที่ทุกเซลล้วนมีพันธุกรรมฉบับเดียวเหมือนกันหมดตามปกติ.. ทีมวิจัยทีมเดิม ใช้โอกาสนี้ตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อลูกตัวหนึ่งเป็นไคเมร่า แต่อีกตัวหนึ่งไม่ได้เป็น? พ่อของมันจะสามารถแยกแยะความแตกต่างได้หรือไม่? และจะรักตัวใดตัวหนึ่งมากกว่าอีกตัวหรือไม่?
ผลการทดลองออกมาปรากฏว่า โดยเฉลี่ยแล้ว พ่อมาร์โมเส็ทให้เวลากับการอุ้มลูกที่เป็นไคเมร่า มากกว่าลูกที่มีพันธุกรรมปกติถึง 2 เท่า! ทำไมคุณพ่อถึงลำเอียง รักลูกที่เป็นไคเมร่ามากกว่า? คุณคอรินน่า อธิบายบอกว่า ในสัตว์พวกลิง มีหลักฐานว่าพ่อแม่สามารถจดจำลูกของตัวเองได้ โดยอาศัยแยกแยะจากกลิ่น ไม่แน่ ทารกมาร์โมเส็ทที่เป็นไคเมร่าอาจจะได้เปรียบตรงที่ เซลผิวหนังของมันประกอบขึ้นมาจากทั้งเซลของมันเองและก็เซลของน้อง(หรือพี่) พอพ่อมาดมเข้า ก็เลยอาจจะได้ความรู้สึกเหมือนกับว่า เป็นลูก 2 ตัว ทั้งตัวพี่และก็ตัวน้องอยู่ในตัวเดียวกัน เปรียบเสมือนเป็นลูกยกกำลังสอง ซึ่งมีกลิ่นยวนใจชวนให้พ่อรักมากกว่าปกติ.. ทำนองนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้
เคยได้ยินคำกล่าวว่า การค้นพบที่น่าสนใจ บางครั้งก็นำมาซึ่งคำถามเสียมากกว่าคำตอบซะอีก.. ผมว่ากรณีไคเมร่าในมาร์โมเส็ทนี่ ช่างเข้าข่ายนั้นเป๊ะๆ เลยครับ มันช่างชวนให้ขบคิดซะเหลือเกิน ว่าในโลกของมาร์โมเส็ทนี่ คำว่า ‘ตัวตน’ คืออะไรกันแน่? การเป็นพ่อแม่ลูก เป็นลุงป้าน้าอาหลานเหลนโหลนกันนี่ ตกลงหมายถึงอะไร? และแม้กระทั่ง..
..แท้จริงแล้ว ความรัก คืออะไร?