Safe Zone 4.2 – งานเสวนา Safe Therapy ครึ่งหลัง “ในจิตบำบัด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้”

แชร์เรื่องนี้ต่อ



“Safe Therapy:
ในจิตบำบัด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

เคยสงสัยกันไหมคะว่า ผู้รับการบำบัดจะเป็นแฟนกับนักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ของตัวเองได้ไหม

การแตะเนื้อต้องตัวผู้รับบริการด้านสุขภาพจิตหรือการส่งข้อความแชทถึงกันนอกเวลาแบบไหนที่อาจนับว่ายังเหมาะสม

แบบไหนที่ประชาชนคนทั่วไปอย่างเราต้องเริ่มเอ๊ะว่ามันแปลกๆ และอาจล้ำเส้นไปสู่การละเมิดหรือฉวยประโยชน์ทางเพศ

เราไม่ได้เรียนเรื่องจิตวิทยามา เราเลยอาจไม่เท่าทันผู้ประกอบอาชีพนี้บางคนที่จงใจแสวงหาผลประโยชน์จากเราที่กำลังเปราะบาง ต้องการที่พึ่งอยู่

นักวิชาชีพที่มีจรรยาบรรณและความสามารถมีสัดส่วนเยอะกว่าคนที่ไม่มี แต่นักวิชาชีพแค่คนเดียวที่ละเมิดจรรยาบรรณก็สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับสังคมได้มากแล้ว และเราไม่ควรยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นต่อไป

ในพอดแคสต์ตอนนี้ นักวิชาชีพจาก 4 สาขาการดูแลสุขภาพจิต (จิตแพทย์ จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาการปรึกษา และศิลปะบำบัด) ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมวงการจิตบำบัดที่มีคุณภาพและปลอดภัย มาร่วมไขข้อข้องใจของอาบัน สามัญชน ว่าสิ่งใดทำได้ และสิ่งใดที่อาจต้องพิจารณาว่ายังสอดคล้องกับการรักษาเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคนไข้/ผู้รับบริการอยู่หรือเปล่า

นอกจากนี้ ในช่วงแรก เรายังได้พูดคุยกับตัวแทนจากกรมสุขภาพจิต แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถี และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ว่าส่งผลกระทบมหาศาลทั้งในระดับบุคคลและสังคมอย่างไร มีที่มาอย่างไร และแต่ละหน่วยงานขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

แม้ปัญหาความรุนแรงด้วนเหตุแห่งเพศจะร้ายแรง แต่เรามีความหวังเสมอค่ะ ความหวังในการเรียกร้องกฎหมายและนโยบายปกป้องคุ้มครองผู้รับบริการด้านสุขภาพจิต

มาร่วมกันทำให้นักวิชาชีพดีๆ มีกำลังใจในการช่วยเหลือจิตใจผู้คนต่อไปด้วยการทำให้มาตรฐานและความปลอดภัยสูงขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมทำแบบสอบถามสนุกๆ ก่อนฟังรายการ เพื่อสำรวจความคิดตัวเองว่าการกระทำไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม

https://app.sli.do/event/bnq8UFUDJDmn58Drj9sE7P

และฟังจบแล้ว ชวนมาแชร์ความเห็นกันค่ะว่าจิตบำบัดที่ปลอดภัยมีหน้าตาเป็นอย่างไรกันนะ

https://docs.google.com/forms/d/1_WgiroCGwTI_XGYVZPCKjR5cj-zMMwgdAOGa5NwJcek/edit?usp=drivesdk

บทความสรุปเนื้อหาการเสวนา โดย The Standard

 

กิจกรรม Safe Zone Talk: Safe Therapy อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568
กิจกรรมครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงสำคัญ ที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้รับมุมมองเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
💡 ช่วงที่ 1 “ผลกระทบจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ: การป้องกันและช่วยเหลือ”
ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคุณอังคนา อินทสา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ และ นพ.พงศกร เล็งดี ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต ที่ได้ช่วยเปิดมุมมองถึงผลกระทบที่เกิดจากความรุนแรงที่ส่งผลเสียอย่างลึกซึ้งต่อทุกด้านของชีวิต การป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ไปจนถึงการจัดการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
💡 ช่วงที่ 2 “Safe Therapy ในจิตบำบัด: อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้”
ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ นักจิตวิทยาคลินิกอิสระ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐวัฒน์ ล่องทอง อาจารย์ภาควิชาจิตวิยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นพ.ธิติ ภัคดุรงค์ จิตแพทย์ และ คุณธิติภัทร รวมทรัพย์ นักศิลปะบำบัด HCPC Registered ได้ช่วยเปิดมุมมองของผู้ให้บริการที่ใช้เครื่องมือจากศาสตร์ด้านจิตวิทยา ว่าสำหรับการบำบัดทางจิตวิทยานั้น เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความไว้วางใจ ความเป็นมืออาชีพและความปลอดภัยของผู้รับการบำบัด (Client) เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถสำรวจปัญหาและความรู้สึกได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตามการรักษาความปลอดภัยในกระบวนการต้องคำนึงถึงสิ่งที่ “ควรทำ” และ “ไม่ควรทำ” โดยอาจเป็นทั้งจากจรรยาบรรณของผู้ให้บริการและความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ การทำจิตบำบัดที่ดีจะช่วยให้ผู้รับการบำบัดสามารถสำรวจความรู้สึกและปัญหาได้อย่างอิสระ ในสภาพแวดล้อมที่เข้าใจและสนับสนุนพวกเขาอย่างแท้จริง