Podcast: Play in new window | Download (Duration: 1:29:21 — 81.8MB)
Subscribe: Google Podcasts | Spotify | RSS | More
ตอนอื่นๆ ที่ควรฟังคู่กัน
1. WiTcast Short – คุณแพรว ผู้ฟัง WiTcast อีกคนเล่าประสบการณ์ไบโพลาร์ของตัวเอง แล้วส่งเทปเข้ามา
2. WiTdrive 06 – บทสนทนาระหว่างขับรถว่าด้วยต่อมไทรอยด์ และบทเรียนจากการไม่สบาย (อาบันเล่าเรื่องการไปตรวจเจอว่าตัวเองเป็นไฮโปไทรอยด์)
แนะนำไปดูนิทรรศการศิลปะ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของคนที่เป็นไบโพลาร์
ช้อมูลจากเพจของหนึ่งในศิลปิน https://www.facebook.com/puichii/
นิทรรศการไตรคอร์นเนอร์ : Tri-Corner เป็นนิทรรศการ ที่จะพูดถึงสภาวะของกลุ่มบุคคลที่ถูกเพิกเฉยเเละถูกมองมองข้ามในสังคมไทย3 กลุ่ม คือ ประชาชนผู้ด้อยโอกาส เยาวชน
เเละผู้ป่วยจิตเวช (ไบโพล่าร์/ซึมเศร้า) ซึ่งตัวงานศิลปะของศิลปินทั้ง 3 คน ในนิทรรศการ เทคนิกวิธีการแตกต่างกัน เเต่ทว่ามีรูปเเบบการเเสดงออกในเเนวเซอเรียลริส เเเฟนตาซี หากท่านใดสนใจ สามารถมารับชมได้นะคะ
ในส่วนตัวงานของเราเอง เป็นผลงานที่ได้รับเเรงบัลดาลใจจากผู้ป่วยจิตเวช เเละในโปสเตอร์นี้ ก็คือหนึ่งในงานทั้งหมดของเราค่ะ
นิทรรศการจะเริ่มให้เข้าชมในวันที่ 7 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน
ณ หอศิลป์กรุงไทย ชั้น2
ธนาคารกรุงไทย สาขาเยาวราช
วันจันทร์ – ศุกร์ 9.00 – 17.00 น.
วันเสาร์ 10.00 – 17.00 น.
ปิดวันอาทิตย์
มาเยาวราชนอกจากได้ดูงานศิลปะเเล้ว
ของกินเเถวนั้นล้วนดีงามค่ะ ดูงานเสร็จหาร้านชาดีๆ ขนมอร่อยๆ กินกันเถอะค่ะ
SHOW NOTE
Time stamp
2:41 ทักทายและแนะนำน้องไอริน
7:52 เริ่มต้นรู้จักไบโพลาร์จากคนรู้จัก
15:12 ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันกับคนในบ้าน
18:45 เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นจนเพื่อนสังเกตได้
23:38 ถึงคราวไปหาหมอแต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นไบโพลาร์
26:10 แนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการไปหาหมอ
31:47 จากดีเพรสสู่แมเนียในที่สุดก็ไบโพลาร์
43:22 ขยี้ประสบการณ์ดีเพรสและการผ่านพ้น
55:32 ขยี้ประสบการณ์แมเนียและสัญญาณในอดีต
1:03:34 แนะนำการอยู่กับโรคอย่างมีสติ
1:10:38 ประสบการณ์ภาพหลอนเสียงหลอน
1:21:22 กล่าวทิ้งทายให้กำลังใจ
WiTcast ตอนพิเศษตอนนี้สัมภาษณ์แขกรับเชิญ “น้องไอริน” เกี่ยวกับประสบการณ์ป่วยทางจิตที่เปิดเผยทั้งแง่คิด มุมมอง และเรื่องราวจากชีวิตจริงอันเป็นประโยชน์ ผ่านบทสนทนาอันรีแล็กซ์กับแทนไท ประเสริฐกุล
2:41 ทักทายและแนะนำน้องไอริน
ถ้าใครเข้ามาในเพจ WiTcast Thailand ก็จะได้พูดคุยและเจอการขายของโดยแอดมินไอริน ซึ่งไอรินนั้นเริ่มต้นจากการเป็นผู้ฟัง WiTcast จนได้มาเป็นแอดมินเพจ (แบบงงๆ) สำหรับรายการตอนนี้ไอรินจะมาแชร์เรื่องราวจากชีวิตตัวเองเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) ซึ่งเป็นได้ปีกว่าๆ เกือบสองปีแล้ว โดยเริ่มจากไม่รู้จักโรคนี้เลย จนเข้าใจและได้ไปช่วยเหลือเพื่อน แล้วก็เป็นเอง และส่วนตัวพี่แทนเองในปีนี้ก็อยากจะทำคอนเทนต์ที่มีธีมเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต เพราะว่ารอบตัวมีคนที่ต้องดูแลตัวเองด้วยอาการสุขภาพจิตอยู่เยอะ ยกตัวอย่างเช่น คุณแจ็คโกบอตแห่งรายการ Long Take Thailand ก็บอกว่ามีอาการย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD (Obsessive Compulsive Disorder) ถึงขนาดล็อคประตูบ้านยี่สิบรอบและถ้าไม่แน่ใจก็กลับมาล็อคใหม่ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับดีเพรสชั่น (Depression – อาการซึมเศร้า) ซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่พูดถึงกันในสื่อมากขึ้น ครั้งนี้รายการ WiTcast จึงขอเริ่มต้นซีรีส์คอนเทนต์สุขภาพจิตจากน้องไอรินก่อน เพื่อให้คนที่ไม่ทราบได้รู้จักว่าโรคไบโพลาร์คืออะไร และหากใครเป็นอยู่ก็ถือเป็นการแชร์เรื่องราว ทั้งการเข้าใจสาเหตุ การอยู่กับโรคอย่างมีสติ และประสบการณ์ไปพบหมอ
7:52 เริ่มต้นรู้จักไบโพลาร์จากคนรู้จัก
เมื่อก่อนถ้าพูดถึงโรคจิตเวชไอรินก็จะนึกถึงศรีธัญญา โรงพยาบาลบ้า/ประสาทแบบที่เห็นในหนังในละคร แต่ที่จริงไม่ได้แบบนั้น และไอรินยังเคยเข้าใจว่าที่คนรู้จักเป็นคือสำออย แกล้งอ่อนแอ ใจไม่สู้ ไม่เข้าใจว่าทำไมปัญหานิดเดียวต้องคิดกลับไปกลับมาเหมือนพายเรือวนอ่าง แต่นั่นคืออาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนป่วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสารเคมีในสมองที่ทำงานผิดปกติ คล้ายวงจรไฟฟ้าที่ลัดวงจรขึ้นมาจุดหนึ่งแล้วทำงานต่อไม่ได้ หรือเหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เออเร่อร์ที่คลิกแล้วค้างไม่ไปตามสั่ง โดยไบโพลาร์จะมีลักษณะอาการสองขั้ว (Depress – ดีเพรส และ Mania – แมเนีย) และเป็นช่วงต่อเนื่องอยู่หลายอาทิตย์หรือเป็นเดือน (ไม่ใช่อาการบุคลิกแปรปรวนที่ตอนเช้าอารมณ์ดี พอตอนบ่ายอารมณ์เสีย) ส่วนเพื่อนไอรินที่ป่วย จากที่ไม่เข้าใจเขาว่าทำไมเรื่องเล็กน้อยถึงหาทางออกไม่ได้ ไม่เลิกคิดหรือปล่อยวาง สำออยรึเปล่า ไอรินก็ได้รู้ว่านั่นคืออาการป่วยเมื่อเพื่อนไปหาหมอ และแม้จะรู้ว่าเพื่อนป่วยต้องกินยาก็ยอมรับว่ายังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี จนได้คุยกับเพื่อนที่เป็นเภสัชฯ และเพื่อนที่เคยป่วยเป็นดีเพรสแต่หายแล้ว ถึงได้ทำความเข้าใจใหม่ว่ามันไม่เกี่ยวกับสำออยหรือคิดไม่เป็น แต่เป็นปัญหากระบวนการคิดที่วนลูป พายเรือวนอ่าง ไม่สามารถหยุดได้ (เหมือนเป็นหวัดแต่หยุดขี้มูกไหลไม่ได้) และอาจมีพฤติกรรมอย่างเช่น แพนิค (panic) กลัว สั่น หรือบางคนก็ร้องไห้นอนเป็นผัก ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เป็นลักษณะโดยรวมๆ ของทั้งไบโพลาร์และดีเพรสชั่น
15:12 ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันกับคนในบ้าน
พอไอรินเริ่มเข้าใจอาการของโรคว่ามันเหมือนวงจรไฟฟ้าที่ช็อต ต้องได้รับการแก้ไขซึ่งก็คือยา และการที่คิดไม่ได้จมอยู่กับปัญหานั้นเป็นอาการอย่างหนึ่ง เลยได้ช่วยพูดคุยให้คำปรึกษากับเพื่อน ตอนนั้นไอรินก็ได้คุยกับพ่อแม่ตัวเองด้วยว่ามีคนที่ป่วยด้วยโรคที่มีอาการแบบนี้ พ่อแม่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจและถามว่าทำไมเพื่อนไม่ไปเข้าวัดนั่งสมาธิ ไอรินก็พยายามอธิบายเชิงหลักการไป ในขณะที่เกิดอาการจะไม่สามารถทำสมาธิหรือฝึกสติได้ ต้องรอให้อาการดีขึ้นสักระยะ (เหมือนคนเมาไปนั่งสมาธิให้หายเมานั้นทำไม่ได้ ต้องให้สร่างก่อนแล้วค่อยว่ากัน) และการทำสมาธิของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมีสมาธิกับการนั่งวาดรูป ทำเครื่องประดับ นอกจากนั้นไอรินก็เคยเล่าว่าได้เข้าไปพูดคุยกับคนรู้จักที่เป็นโรคบุคลิกภาพแปรปรวน พ่อแม่ฟังแล้วก็บ่นว่าอย่าไปยุ่งกับเขามากเดี๋ยวเราจะเป็น…แล้วก็เป็น (ฮา) แต่ว่าไม่ได้เกี่ยวกับการไปช่วยใครแล้วเครียด ไอรินมีอาการทางร่างกายบางอย่างมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่แสดงออกว่าเป็นโรค
18:45 เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นจนเพื่อนสังเกตได้
ไอรินรู้สึกว่าที่ตัวเองโกรธ โมโห ร้องไห้ และเครียดนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่สังเกตความผิดปกติได้คือเพื่อน เห็นว่าไอรินเริ่มคิดย้ำไปย้ำมากับปัญหาเดิมและงี่เง่ามากกว่าเดิม คล้ายๆ มิสฮอร์โมน (ศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาเรียกผู้หญิงช่วงก่อนเมนส์มา ที่อะไรนิดอะไรหน่อยจะรำคาญโมโหหรือบางครั้งงอนแล้วเศร้าดิ่ง และจะกลับคืนร่างหลังจากผ่านช่วงเมนส์ไป) โดยไอรินนั้นสะสมความเครียดมาเรื่อยๆ จนมีอยู่วันหนึ่งที่ไม่ปกติอย่างมากคือคุยกับตัวเองให้ลืมปัญหาบางอย่าง พูดประโยคซ้ำๆ แล้วอยู่ดีๆ ก็รู้สึกเหมือนภาพตัด ทุกอย่างมืดและเบลอ จำสิ่งที่พูดไปไม่ได้แล้วก็เริ่มรู้สึกเหม่อลอย พูดไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถเรียงลำดับเหตุการณ์หรือเรียงข้อความให้สื่อสารเข้าใจได้ ช่วงนั้นความทรงจำก็ค่อนข้างจะปั่นป่วนมาก แยกไม่ออกว่าอันไหนความจริง อันไหนความฝัน อันไหนคือสิ่งที่แค่คิดเฉยๆ หรือคนอื่นมาเล่า บางทีตื่นมาก็คิดว่าเรื่องที่ฝันเกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่างเช่น คุยกับเพื่อนในฝันว่าจะไปเที่ยวกัน ในความจริงก็โทรศัพท์ไปบอกเพื่อนแต่เพื่อนบอกไม่เคยคุยกัน ก็บอกไปว่าแชทคุยกันเมื่อคืน แล้วพอกลับไปดูแชทปรากฏว่าไม่มี ถึงได้รู้ว่าเมื่อคืนฝันไม่ใช่เรื่องจริง
23:38 ถึงคราวไปหาหมอแต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นไบโพลาร์
พอรู้สึกว่าจำอะไรไม่ได้แล้วเพื่อนก็บอกให้ไปหาหมอ แต่สำหรับไอรินความผิดปกติที่เกิดขึ้นยังไม่น่าตื่นตระหนกเท่าค่ารักษา (ขำแรง) อยากหายป่วยเลย ไอรินต้องไปโรงพยาบาลเอกชนก่อนเพราะไม่สามารถนัดโรงพยาบาลรัฐได้ ค่ารักษารอบแรกก็พันห้า รวมๆ กันหนึ่งเดือนก็หนึ่งหมื่นบาท เพราะต้องไปหลายรอบเพื่อค่อยๆ ปรับยา ดูว่าเกิดผลอย่างไร เข้ากับร่างกายได้ไหม และต้องจดไดอารี่ทุกวันว่ารู้สึกยังไงบ้าง สุขหรือเศร้า นอนหลับได้ไหม มีความคิดความกังวลอะไรในใจ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นไบโพลาร์เพราะเริ่มต้นด้วยช่วงอาการดีเพรสก่อน และหมอจะยังวินิจฉัยไม่ได้ว่าเป็นอะไรกันแน่จนกว่าจะผ่านไปได้สักระยะ สำหรับจุดสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจไปหาหมอเพราะเพื่อนบอกให้ไป อาการไม่ได้อยู่ในระดับที่สามารถจัดการเองได้แล้ว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้ปกติได้ เศร้าก็เศร้าไปเลยไม่กลับมาแฮปปี้ อะไรที่ชอบทำก็ไม่อยากทำ อยู่ในโหมดเศร้าแต่ยังไม่มีเกรี้ยวกราด
26:10 แนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการไปหาหมอ
ไอรินแนะนำว่า ใครยังนัดหมายกับโรงพยาบาลรัฐไม่ได้ก็ไปโรงพยาบาลเอกชนก่อน อย่าคิดมากเรื่องเงินในช่วงแรก อย่างน้อยจะได้รู้ว่าเป็นหรือไม่เป็นอะไร เรื่องค่าใช้จ่ายก็บอกหมอได้ว่ามีแค่ไหน ระหว่างนั้นก็ไปทำบัตรผู้ป่วยโรงพยาบาลรัฐแล้วหาคิวนัดไว้ จากประสบการณ์ก็ได้เจอหมอต่างสไตล์ ที่ไอรินไปเจอตอนแรกเป็นหมอผู้หญิงพูดจานิ่มนวลคอยถามไถ่ ซึ่งบางคนอาจชอบและสบายใจแต่ไม่ใช่สำหรับไอริน เพราะรู้ตัวว่าป่วยต้องการยาอยากให้หมอช่วยจัดยาให้เร็วๆ ซึ่งหมอก็โอเค แต่กับเพื่อนรุ่นน้องอีกคนจะชอบหมอที่พูดจานุ่มนวลอ่อนหวาน บางคนก็ได้คุยกับนักจิตบำบัด พอไอรินย้ายโรงพยาบาลใหม่ก็เจออาจารย์แพทย์จบนอกสไตล์กวนๆ คุยตรงๆ ด้วยได้ ถูกจริตกันมากกว่า ส่วนน้องที่ชอบหมอนุ่มนวลจะไม่ชอบหมอสไตล์นี้ ในการพบหมอบางครั้งอาจมีพ่อแม่ไปด้วย ซึ่งบางคนก็รู้สึกกดดันจนไม่กล้าบอกอะไร ถ้ารู้สึกเกร็งที่ต้องมีครอบครัวอยู่ด้วยก็สามารถบอกหมอได้ หมอยินดีรับฟังและถือว่าเป็นผลดีกับการรักษาในครั้งต่อๆ ไป (ไอรินเองตอนนี้รักษาที่โรงพยาบาลศิริราช)
31:47 จากดีเพรสสู่แมเนียในที่สุดก็ไบโพลาร์
ช่วงที่มีอาการแมเนียนั้น ไอรินอยากทำโน่นนี่ มีไอเดียร้อยแปดพันล้าน อยากวาดรูป ทำเครื่องประดับ ที่สำคัญคือนอนไม่หลับเลยซึ่งทรมานมาก มีอาการหวาดกลัวผู้คนร่วมด้วยและเป็นมาตั้งแต่ตอนดีเพรส พอเข้าสู่ช่วงแมเนียก็ยังเป็นอยู่ จะกลัวผู้ชายที่เข้ามาใกล้จนสั่น เพราะหนึ่งปีก่อนป่วยไอรินเจอเหตุการณ์ผู้ชายใส่เสื้อสีดำลวนลามบนรถไฟฟ้า จึงระแวงชายเสื้อดำฝังใจ พอช่วงที่เริ่มป่วยเห็นคนใส่เสื้อสีดำก็ไปกระตุ้นความกลัวอีก นอกจากนี้ช่วงแมเนียไอรินยังใช้เงินเยอะมาก ใช้เงินไปสองสามหมื่นแบบคุมไม่ได้ เพราะการช้อปปิ้งนั้นทำให้เสพติดความสุขจากการได้เป็นเจ้าของ อยากปาร์ตี้สังสรรค์เยอะขึ้น ในที่สุดหมอก็วินิจฉัยว่าเป็นไบโพลาร์ ต้องปรับยาใหม่ใช้เวลาประมาณครึ่งปี หนึ่งอาทิตย์แรกที่ปรับยาก็มือสั่น ไม่ได้แพ้ยาแต่แพนิค อยู่ไม่สุขต้องหาอะไรทำให้สงบ ไอรินใช้วิธีระบายสีในสมุดภาพสำหรับผู้ใหญ่ ต่อมาก็เริ่มอยากทำเครื่องประดับ เพราะร้อยเครื่องประดับทีละนิดช่วยสร้างสมาธิ ทำให้แฮปปี้ และหยุดอาการแมเนียได้ จึงเริ่มจากทำเครื่องประดับ WiTcast ธีมอวกาศ รู้สึกอยากทำอะไรให้คนอื่นมีความสุขด้วย จนตอนนี้ก็ปีกว่าๆ แล้วที่รู้ว่าป่วยและไอรินต้องกินยาทุกวัน ต้องจัดการอารมณ์ให้ได้ มีเพื่อนหลายคนที่ป่วยแต่ก็อยู่ในสังคมและทำงานได้ตามปกติ ต้องหาหมอและรู้จักตัวเอง รวมทั้งมีคนรอบข้างเข้าใจซึ่งที่ทำงานไอรินก็เข้าใจ ส่วนยาไม่ได้ทำให้หายทันทีต้องค่อยๆ ปรับ ไม่ได้กินปุ๊บหายปั๊บ อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ตอนนี้ไอรินกินทั้งยาต้านเศร้าและยาควบคุมอารมณ์
43:22 ขยี้ประสบการณ์ดีเพรสและการผ่านพ้น
ตอนที่เศร้าสุดรู้สึกเหมือนกำลังจะตาย ไม่ใช่การตายจากร่างกายแต่เป็นการตายจากจิตใจตัวเอง คือรู้สึกว่ากำลังสูญเสียความเป็นตัวเองไป วันนั้นก็เป็นวันธรรมดาทั่วไปช่วงสิ้นปี ตอนเย็นรู้สึกเศร้าร้องไห้น้ำตาไหล เริ่มแพนิคมื่อสั่น พยายามคุมสติ จนกระทั่งดึกกินยาก่อนนอนไปแต่กลับไม่ง่วงทั้งที่ควรง่วง สั่นมากขึ้น ลุกออกมาเดินวนรอบห้อง ตอนนั้นไม่ไหวแล้ว อยากตาย เศร้ามาก เริ่มล่องลอย สติสัมปชัญญะค่อยๆ หายทีละนิด ตัวสั่นต้องขยับตัวตลอด น้ำตาไหลร้องไห้ไม่มีเสียง สมองค่อยๆ ว่างเปล่าไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สั่งเสียกับตัวเอง รู้สึกสูญเสียจิตวิญญาณและตัวตน สู้กับมันไม่ไหวแล้ว นิ่งไปจนสติล่องลอย แต่แล้วก็ได้ยินเสียงตะโกนจากจิตใจว่าไม่ได้ จะยอมแพ้กับอาการป่วยของตัวเองไม่ได้ ยังไม่อยากตาย จุดนั้นจึงดีดกลับขึ้นมา ได้สติมาหน่อย รับรู้เรื่องราวรอบตัวได้
ช่วงดีเพรสหนักๆ จะเข้าใกล้ระเบียงหรือบันไดไม่ได้เลย เคยเห็นหน้าต่างประตูแล้วร่างกายขยับจะพุ่งไปเองเหนือการควบคุม เห็นภาพตัวเองพยายามฆ่าตัวตายในทุกๆ แบบตลอดเวลา เป็นภาพวนอยู่ในหัวหยุดไม่ได้ รู้อาการตัวเองแต่หยุดไม่ได้ ตอนนั้นก็กินยาอยู่และรอดมาได้เพราะหาหมอ มีเพื่อนพูดคุยคอยเข้าใจ จดไดอารี่บ้างในช่วงแรก แต่หลังจากป่วยก็ขาดความครีเอทวาดรูปไม่ได้ แล้วพอวาดสำเร็จเป็นครั้งแรกก็แฮปปี้มาก รู้สึกมีคุณค่าและช่วยเติมเต็ม เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็ชนะความรู้สึกไม่อยากทำอะไรมาได้ ซึ่งยาช่วยได้เยอะ ถ้าได้ยาที่ไม่ถูกกับตัวเองอย่าทน หมอก็เปลี่ยนได้ถ้าไม่โอเค ส่วนเหตุการณ์ฝังใจในอดีตที่ทำให้กลัว หมอก็บอกให้คิดว่ามันผ่านไปแล้ว ไอรินจะกลัวผู้ชายเสื้อดำตลอดเวลาไม่ได้ แต่ก็อาจมีกลัวอยู่บ้างในบางสถานการณ์
55:32 ขยี้ประสบการณ์แมเนียและสัญญาณในอดีต
ช่วงแมเนียไอรินช้อปปิ้งหนักมาก มีโปรเจ็คท์ร้อยล้านทั้งอยากตัดเย็บเสื้อผ้า อยากทำเครื่องประดับ แล้วก็นอนไม่หลับกระสับกระส่าย จากเศร้ากลายเป็นดีด บ้างานมาก อยากทำเครื่องประดับ WiTcast ไม่ได้ทำขอแค่เดินวนในห้องทำงานก็ยังดี แต่ที่ไม่โอเคเลยคือนอนไม่หลับอย่างรุนแรง หมอเพิ่มโดสยานอนหลับให้ก็ไม่ช่วย พอกินไปร่างกายไม่มีแรงขยับแต่ตาเปิด ใจไม่หลับ แต่พอใช้ชีวิตได้ปกติขึ้นก็เริ่มสังเกตเห็นแพทเทิร์นบางอย่าง คือเวลาก่อนมีประจำเดือนแค่ไม่กี่วันจะมีอาการ PMS (Premenstrual syndrome) ที่มีลักษณะอารมณ์แปรปรวนและนอนไม่หลับ แต่พอประจำเดือนมาปุ๊บก็นอนหลับได้ ไม่มีอาการอะไร ไอรินเลยคุยกับหมอว่ามีอาการทางร่างกายแบบนี้ พอนึกย้อนไปราวๆ สิบปีก่อนก็เคยมีอาการ และแพทเทิร์นเริ่มชัดเจนเมื่อประมาณสามสี่ปีก่อน หมอก็บอกว่าไอรินมีแนวโน้มที่จะป่วยมานานแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการของโรคไบโพลาร์ จนมีอะไรบางอย่างไปกระตุ้น ซึ่งภาวะฮอร์โมนก็มีผลด้วย ส่วนอาการกลัวผู้ชายก็ยังมีอยู่บ้างแต่ก็เริ่มรู้สึกอยากคุยกับคนอื่น อยากมีเพื่อนมีสังคม แต่ไม่อยากคุยเองเลยได้ WiTcast เป็นเพื่อน เริ่มเศร้าก็ฟังรายการแล้วหัวเราะอยู่คนเดียว ที่ได้มาเล่าในครั้งนี้ไอรินก็รู้สึกแฮปปี้ที่ได้เป็น case study ให้คนอื่น
1:03:34 แนะนำการอยู่กับโรคอย่างมีสติ
ต้องเข้าใจโรคและอาการ เข้าใจความจำเป็นที่ต้องหาหมอและการใช้เวลาเพื่อวินิจฉัย คนรอบข้างก็ต้องเข้าใจว่าการป่วยนั้นไม่ใช่สำออยหรือคิดไม่ได้ ส่วนวิธีการจัดการอารมณ์ในชีวิตประจำวัน ถ้าโมโหก็ต้องถอยออกมาก่อนเพื่อสงบสติอารมณ์ หรือคุยกับคนที่ไว้ใจได้และพร้อมจะรับฟัง ไอรินเองก็จำเป็นต้องทำงานจึงต้องควบคุมตัวเองให้ได้ แต่ช่วงที่ป่วยแรกๆ ก็ไม่ได้บอกคนในครอบครัว สักพักไอรินถึงบอกที่บ้าน พ่อแม่ก็ถามอีกว่าไปวัดนั่งสมาธิไหม ซึ่งไอรินก็ต่อต้านเพราะมีแนวทางของตัวเอง สามารถมีสมาธิได้ในแบบอื่น ก็เลยดราม่าไม่คุยกับที่บ้านประมาณหนึ่งเดือน จนแม่คิดถึงและได้โทรหาพูดคุยกันจริงจัง จากที่ไม่เข้าใจก็เข้าใจกันมากขึ้น
1:10:38 ประสบการณ์ภาพหลอนเสียงหลอน
ปกติไอรินมักจะเห็นพลังงานอะไรบางอย่างตามข้างทางบ้างอยู่แล้ว (โปรดใช้วิจารณญาณ) เวลาเจอพลังงานนั้นก็จะมีความรู้สึกบางอย่าง แต่กับภาพหลอนตอนป่วยจะไม่มีความรู้สึกนั้นมาด้วย เห็นเป็นภาพแวบเข้ามาจนแปลกใจว่าทำไมช่วงนี้เห็นบ่อยจัง ภาพหลอนที่เห็นก็เช่น แมววิ่งตัดหน้า หมาวิ่งไป คนขี่จักรยานผ่าน ส่วนเสียงหลอนที่ได้ยินคือเสียงดนตรีไทยที่มาเวลาเดิมทุกวัน (แต่ของเพื่อนเป็นเพลงติ๊ดๆ) ซึ่งเสียงก็ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับภาพ หมอบอกว่านั่นคืออาการอย่างหนึ่งของโรค ทุกวันนี้กินยาคุมอาการเลยไม่หลอนแล้ว แต่ช่วง PMS หรือเครียดมากๆ เสียงหลอนก็จะกลับมาเป็นเสียงผู้หญิงพูดใส่ที่ฟังไม่ได้ศัพท์ ไอรินเองก็รู้ตัวว่าหลอนและอเมซิ่งกับประสบการณ์นี้ เป็นความรู้สึกที่แปลกๆ ดี
1:21:22 กล่าวทิ้งทายให้กำลังใจ
รายการตอนนี้คงมีเรื่องราวอะไรหลายอย่างที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน หรือฟังแล้วอาจจะคล้ายกับเราหรือคนใกล้ตัวเรา หากใครมีอะไรอยากพูดคุยกับไอรินก็แชทมาทางเพจ WiTcast Thailand ได้ (ซื้อของก็ได้) ไอรินก็ขอฝากนิทรรศการภาพวาดที่ได้แรงบันดาลใจจากผู้ป่วยโรคจิตเวช ซึ่งไอรินเป็นเคสหนึ่งที่เจ้าของนิทรรศการได้ศึกษา แล้วตีความออกมาเป็นภาพ ส่วนพี่แทนก็ขอให้กำลังใจกับทุกคนที่ไม่ย่อท้อต่อโรคและอุปสรรคต่างๆ และไอรินได้ทิ้งท้ายว่าต้องรู้เท่าทันอาการและเข้าใจมัน รวมทั้งให้คนรอบตัวได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย ที่สำคัญต้องไปหาหมอ
“คนเราจริงๆ ก็เป็นแก้วร้าวด้วยกันทุกคน ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะร้าวตรงไหน แล้วจะอยู่กับรอยร้าวยังไง จะดูแลยังไงไม่ให้มันแตก บางครั้งเราก็ต้องระวังไม่ทุบตี ไม่บีบตัวเองมากเกินไป บางครั้งต้องคอยระวังและรับรู้ถึงรอยร้าวของคนอื่นด้วย” คำคมพี่แทน (แถม)
ถอดความจาก podcast โดย: ปรางค์ Arbthip Suwaluk
เครดิตเพลงจบ